ปลัดกระทรวงดีอีเอส ชี้แจง 2 ประเด็น โครงการเน็ตประชารัฐ หลัง สตง. เผยผลตรวจสอบ 'ไม่คุ้มการลงทุน 13,000 ล้านบาท' ยืนยันทำตามแผนงานที่วางไว้ ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของระบบตลอด
น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า มีข้อเท็จจริง 2 ประเด็นที่เป็นข้อมูลความคืบหน้าการต่อยอดใช้ประโยชน์โครงข่ายเน็ตประชารัฐ ที่ไม่ได้รับการระบุถึง ในกรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่ข้อมูล ผลสอบเน็ตประชารัฐ ไม่คุ้มงบ 13,000 ล้าน แถมเชื่อมต่อยังไม่ได้ ไม่สะท้อนความสำเร็จการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐ คือ
กรณีที่ว่าโครงการไม่คุ้มทุนไม่คุ้มค่า เนื่องจากยังไม่เปิดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเชื่อมต่อโครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network ) เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกับประชาชน หลังจากวางโครงข่ายเสร็จตั้งแต่เดือน ธ.ค.2560 นั้น ปัจจุบันได้มีการลงนามสัญญาไปแล้ว 4 รายโดยเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2562 กระทรวงฯ ได้เห็นชอบให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจำนวน 6 ราย ที่แสดงความสนใจเข้าเชื่อมต่อโครงข่ายฯ และมีผู้ประกอบการฯ ได้ลงนามในสัญญาแล้ว 4 ราย ได้แก่ บมจ.ทีโอที, หจก. เอส.ที.แอล เสียง (ไทยแลนด์), บริษัทวารินชำราบ จำกัด และบมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ และบางรายเริ่มให้บริการแล้ว
สำหรับความเป็นมาของการเตรียมการให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมอื่นเชื่อมต่อไปให้บริการยังบ้านเรือนประชาชนได้ หรือ Open Access Network นั้น กระทรวงฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์ในการเชื่อมโครงข่ายแบบเปิด เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2560 โดยได้เสนอหลักการให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งประเภทที่มีโครงข่ายและไม่มีโครงข่ายของตนเอง ให้สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐ โดยไม่มีค่าใช้บริการ เพื่อลากสายไปให้บริการยังบ้านเรือนของประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายเล็กในภูมิภาค ทำให้เกิดการแข่งขัน ประชาชนได้ใช้ประโยชน์และมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง
ต่อมาได้เสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2561 และเสนอ ครม. รับทราบ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2561 หลังจากนั้น กระทรวงฯ ได้จัดทำร่างข้อเสนอการใช้โครงข่ายและแจ้งให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทราบ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ปีเดียวกัน โดยมีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมสนใจเข้าเชื่อมต่อโครงข่าย จำนวน 8 ราย แต่ผ่านการพิจารณา 6 ราย และเข้ามาเซ็นสัญญาแล้ว 4 ราย
โครงข่ายเน็ตประชารัฐเป็นทรัพย์สินของรัฐ การอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างรอบคอบ มีขั้นตอนที่ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดทำสัญญาการอนุญาตให้ใช้โครงข่ายฯ ซึ่งเดิมสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2562 ว่าการอนุญาตให้เอกชนนำทรัพย์สินของรัฐไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อาจเข้าข่าย พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ กระทรวงฯ จึงต้องดำเนินการเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย
โดยได้เสนอให้ ครม. ให้ความเห็นชอบแนวทางการเปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐแบบเปิดให้เอกชนที่สนใจเชื่อมต่อโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และ ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2562 จากนั้น ได้หารือไปยังคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในประเด็นการอนุญาตให้เอกชนนำทรัพย์สินของรัฐไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ว่า เข้าข่าย พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ หรือไม่ โดยได้รับหนังสือตอบเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2562 ว่า การดำเนินการในรูปแบบที่กระทรวงฯ นำเสนอไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ จึงได้จัดส่งสัญญาการใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้ง และได้รับการตอบกลับมาเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2562 ส่งผลให้การเปิดโครงข่ายแบบเปิดมีความล่าช้าไปประมาณ 1 ปี
ประเด็นที่สองที่ สตง. รายงานว่า ผลการตรวจสอบพบว่า กระทรวงฯ ยังไม่สามารถควบคุม ตรวจสอบ และติดตามการเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้บริการโครงข่ายแบบเปิด ส่งผลกระทบให้มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมบางราย นำโครงข่ายดังกล่าวไปใช้งานโดยยังไม่ได้รับอนุญาตนั้น ขณะนี้ กระทรวงฯ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว เพื่อตรวจสอบการเชื่อมต่อโครงข่ายแบบเปิดทั้งหมด และรายงานผลให้ทราบภายใน 60 วัน ขอยืนยันว่าที่ผ่านมาให้ความสำคัญการประสิทธิภาพของระบบควบคุม ตรวจสอบ และติดตามการเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐโดยตลอด
เนื่องจากอุปกรณ์โครงการเน็ตประชารัฐติดตั้งอยู่ในหมู่บ้านห่างไกลทั่วประเทศ กระทรวงจึงได้พัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพย์สิน (MDES-SM) เพื่อควบคุมกำกับอุปกรณ์ปลายทางและการใช้งาน เพื่อให้บริการไวไฟเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และได้เพิ่มระบบบริหารจัดการโครงข่ายแบบเปิด (MDES-OA) เมื่อปลายปี 2562 ทำให้สามารถตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ สถานะของการใช้และเชื่อมต่ออุปกรณ์เพื่อรองรับการเชื่อมต่อโครงข่ายแบบเปิดที่ได้รับการอนุมัติ
น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้งานเน็ตประชารัฐแล้ว 8,637,497 ราย และจำนวนอุปกรณ์ใช้งานจำนวน 10.1 ล้านเครื่อง มีการใช้งานโดยเฉลี่ยมากกว่า 20 ล้านครั้งต่อเดือนโดยให้บริการฟรี Wi-Fi หมู่บ้านละ 1 จุดทั้ง 24,7000 หมู่บ้าน ในความเร็ว 100/50 Mbps และยังได้ต่อขยายจากโครงข่ายเน็ตประชารัฐไปยังโรงเรียน 1,187 แห่ง ซึ่งรวมถึงโรงเรียน ตชด. 36 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสุขศาลาพระราชทาน 484 แห่งที่ยังไม่มีโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงเข้าถึง ทำให้เกิดความครอบคลุมได้ครบทุกแห่ง ส่งผลให้ประหยัดงบประมาณในการดำเนินการได้มากและสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น
"ตาม" - Google News
July 05, 2020 at 11:54AM
https://ift.tt/3dXTSCf
ดีอีเอส แจงปม สตง. อัด "เน็ตประชารัฐ" ไม่คุ้มเงินลงทุน ชี้ใช้งานตามแผน - Sanook
"ตาม" - Google News
https://ift.tt/2U0RPX7
0 Comments:
Post a Comment