ธุรกิจการบินโคม่า ชักแถวยื่นฟื้นฟูกิจการ ล่าสุดตระกูลจุฬางกูร ผู้ถือหุ้นใหญ่ “นกแอร์” ตัดสินใจยื่นศาลล้มละลาย ตามรอย “บินไทย” หลังขาดสภาพคล่องหนี้ท่วม 2.6 หมื่นล้าน วงการจับตา “ไทยไลอ้อนแอร์”เสี่ยง
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า อุตสาหกรรมการบินซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางทั่วโลกหยุดชะงัก ทำให้สายการบินทั่วโลกประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และมีหนี้สินล้นพ้นตัวจนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้กฎหมายล้มละลายจำนวนมาก
บินไทยนำร่อง
สำหรับประเทศไทย บมจ.การบินไทย สายการบินแห่งชาติได้นำร่องยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางไปแล้ว โดยศาลล้มละลายกลางได้รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไปเมื่อ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา และได้นัดไต่สวนคำร้องฟื้นฟูกิจการวันที่ 17 ส.ค. 2563 ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2563 การบินไทยมีหนี้สินรวม 352,484 ล้านบาท หนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้สินจากการเช่าเครื่องบินประมาณ 1.45 แสนล้านบาท และเป็นหนี้หุ้นกู้ 7.42 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
โดยการบินไทยได้เสนอให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับคณะกรรมการบริษัท 6 คน ได้แก่ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการของบริษัท เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทและเมื่อวันที่ 9 ก.ค. นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บมจ.การบินไทย ได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัท แมคคินเซย์ แอนด์ คอมพานี มาเป็นที่ปรึกษาด้านการบิน เพื่อเข้ามาร่วมทำแผนธุรกิจใหม่
รวมถึงแผนปรับปรุงเส้นทางบินเพื่อให้สอดรับกับทิศทางอุตสาหกรรมการบินในอนาคต และนำไปวางกลยุทธ์ในการเจรจากับเจ้าหนี้ให้เช่าเครื่องบินและเจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ รวมถึงประมาณการทางการเงิน
“นกแอร์” ยื่นศาลล้มละลาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เมื่อ 30 ก.ค. 2563 บริษัทได้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท วาระพิเศษ มีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและให้เสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ (ผู้ทำแผน) ต่อศาลล้มละลายกลาง ภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 และบริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันเดียวกัน และศาลก็ได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาแล้วในวันเดียวกัน โดยได้นัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 27 ตุลาคม 2563
คำร้องขอฟื้นฟูกิจการมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า บริษัทในฐานะลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เพราะเห็นว่าการฟื้นฟูกิจการนั้นเป็นแนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวของบริษัท ภายใต้การกำกับดูแลของศาล เพื่อให้กิจการของบริษัทสามารถดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ
แนวทางฟื้นฟูกิจการ
นอกจากนี้ สายการบินนกแอร์ระบุถึงแนวทางการฟื้นฟูกิจการว่า จะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ไขหนี้สินที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้น พร้อมกับยกเครื่องธุรกิจปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน-ฝูงบิน และการปรับกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคล
โดยบริษัทได้เสนอให้บริษัท แกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับนายปริญญา ไววัฒนา นายไต้ ชอง อี นายเกษมสันต์ วีระกุล นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร และนายชวลิต อัตถศาสตร์ กรรมการของบริษัท เป็นผู้ทำแผน ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จก่อนการระบาด
โควิด-19 จะยุติลง เพื่อให้บริษัทมีความพร้อมอย่างเต็มที่และสามารถให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศขณะที่ก่อนหน้านี้ (26 มิ.ย. 2563) ก็ได้แจ้งยกเลิกกิจการบริษัทย่อยในส่วนของ “สายการบินนกสกู๊ต” ไปแล้ว
หนี้ท่วม-ขาดทุนต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สายการบินนกแอร์แจ้งว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 บริษัทมีหนี้สินต่อเจ้าหนี้หลายราย รวมกันจำนวน 26,522.20 ล้านบาท ประกอบด้วยหนี้สินหมุนเวียนเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น 2,720 ล้านบาท, เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้หมุนเวียนอื่น 2,679.06 ล้านบาท, รายได้ รอตัดบัญชีจากโปรแกรมสิทธิพิเศษแก่ลูกค้า 41.81 ล้านบาท, หนี้สินค่าปรับสภาพเครื่องบินและค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินระยะสั้น 58.85 ล้านบาท, ส่วนของหนี้สินตามสัญญาเช่าที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี 1,907.59 ล้านบาท หนี้สินหมุนเวียนอื่น 98.59 ล้านบาท รวมหนี้สินหมุนเวียน 7,505.92 ล้านบาท หนี้สินไม่หมุนเวียนประมาณการหนี้สินค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินตามแผนการซ่อมบำรุงประมาณการหนี้สินค่าปรับสภาพเครื่องบิน 6,460.36 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบผลประกอบการของสายการบินนกแอร์ พบว่าขาดทุนสุทธิอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 4 ปี โดยในปี 2562 ประสบภาวะขาดทุน 2,051.39 ล้านบาท, ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 2,786.76 ล้านบาท, ปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 1,854.30 ล้านบาท และปี 2559 ขาดทุนสุทธิ 2,795.09 ล้านบาท
โดยปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.สายการบินนกแอร์คือตระกูลจุฬางกูร 74.96% ประกอบด้วยนางหทัยรัตน์ จุฬางกูร 26.38% นายณัฐพล จุฬางกูร 26.07% และนายทวีฉัตร จุฬางกูร22.51% และอีก 13.28% ถือหุ้นโดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
แอร์ไลน์ต้นทุนสูง-ล้มเร็ว
แหล่งข่าวผู้คลุกคลีในธุรกิจสายการบินกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2563 นับเป็นปีที่ยากลำบากของธุรกิจสายการบิน เนื่องจากน่านฟ้าถูกปิดถาวรต่อเนื่องมา 4-5 เดือนเต็ม ๆ แม้ว่าปัจจุบันจะเปิดให้บินเส้นทางบินภายในประเทศได้ก็ตาม แต่ปริมาณการเดินทางของกลุ่มคนไทยก็ยังไม่มากพอเมื่อเทียบกับซัพพลายที่มีอยู่ เนื่องจากการประเมินการลงทุนของสายการบินต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาเป็นการลงทุนเพื่อรองรับนักเดินทางต่างชาติเป็นหลัก เช่นเดียวกับธุรกิจโรงแรมที่พัก
ประกอบกับสายการบินเป็นธุรกิจที่ลงทุนสูง โดยเฉพาะต้นทุนค่าเครื่องบินและบุคลากร ทำให้ต้องใช้กระแสเงินสดหมุนเวียนเป็นจำนวนมาก เมื่อเครื่องบินไม่สามารถบินได้ ไม่มีรายได้เข้า ธุรกิจจึงสะดุดและเกิดปัญหาสภาพคล่องทันที วิกฤตโควิดจึงทำให้สายการบินจำนวนมากทั่วโลกล้มละลายเป็นจำนวนมาก
“ธุรกิจสายการบินในประเทศไทย ตอนนี้แทบทุกรายอยู่ในภาวะขาดสภาพคล่อง ต้องเร่งทำการเปิดบินเพื่อให้มีกระแสเงินสดเข้ามา ดีกว่าปล่อยให้เครื่องบินจอดอยู่เฉย ๆ”
จับตา “ไทยไลอ้อนแอร์”
แหล่งข่าวรายนี้ยังวิเคราะห์ว่า การชิงยื่นขอฟื้นฟูของสายการบินนกแอร์ เหตุผลหลักน่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการต้นทุน และหยุดการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ไปก่อน รวมถึงอาศัยอำนาจศาลเพื่อให้ทุกอย่างสามารถเดินไปในทิศทางเดียวกัน หรือในทิศทางที่ควรจะเป็นและอยู่รอดในภาวะวิกฤตนี้
“บางครั้งการเข้าฟื้นฟูในศาลฯก็ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจและไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะล้มละลายเสมอไป เพราะแนวทางเข้าฟื้นฟูนั้นทำให้ธุรกิจเดินหน้าแบบมีไดเร็กชั่นมากขึ้น มีที่ปรึกษาคอยแนะนำ ที่สำคัญยังทำให้หยุดการชำระหนี้ได้ด้วย”
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากสายการบินนกสกู๊ตที่ปิดตัวไปแล้ว ขณะที่การบินไทยและนกแอร์ที่ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลฯแล้ว ขณะนี้ในวงการยังมีอีกสายการบินที่น่าจับตาคือไทยไลอ้อนแอร์ ซึ่งที่ผ่านมาก็เผชิญมรสุมด้านต้นทุนและสภาพคล่องอย่างหนักเช่นกัน
"ตาม" - Google News
August 01, 2020 at 10:00AM
https://ift.tt/3fkqEhC
'นกแอร์' ฟื้นฟูกิจการ ตามรอยการบินไทย จับตา “ไทยไลอ้อนแอร์” - ประชาชาติธุรกิจ
"ตาม" - Google News
https://ift.tt/2U0RPX7
0 Comments:
Post a Comment