"วุฒิภูมิ จุฬางกูร" ร่อนหนังสือยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและการเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางแจ้งตลาดหุ้นกลางดึก เหตุหนี้อ่วมหนักกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท มากกว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ 2.3 หมื่นล้านบาท สุดยื้อขาดสภาพคล่องหนักเดินหน้าต่อไม่ไหว
นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ หรือ NOK กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (30 ก.ค.) บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากบริษัทมีหนี้สิน 2.6 หมื่นล้านบาท มากกว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ 2.3 หมื่นล้านบาท โดยจากสถานการณ์การระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว และหลายประเทศไม่สามารถทำการบินได้ ทำให้รายได้ของบริษัทหายไปทันที ขณะที่ NOK ยังมีภาระค่าใช้จ่าย โดยยังทำการบินจากสนามบินดอนเมืองเพื่อช่วยเหลือในการขนส่งบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์ ทำให้สูญเสียกระแสเงินสด และประสบผลขาดทุน ขณะที่เกิดผลขาดทุนสะสมจำนวนมาก จึงต้องพึ่งกระบวนการศาลล้มละลายกลาง
"รายจ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าเช่าเครื่องบิน ซึ่งอยู่ที่เดือนละประมาณ 300 ล้านบาท และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันอีก ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาแม้ว่าจะเกิดวิกฤตโควิด-19 บริษัทก็ไม่ได้มีการปลดพนักงาน ซึ่งจากรายจ่ายที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องสวนทางกับรายรับที่ไม่มีเข้ามา จึงทำให้กระทบกระแสเงินสด" นายวุฒิภูมิกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหนี้สินส่วนใหญ่ของนกแอร์นั้นหลักๆ มาจากค่าเช่าเครื่องบิน โดยปัจจุบันบริษัทมีเจ้าหนี้กว่า 10 ราย ซึ่งมีสัญญาเช่ายาวนานที่สุดมากถึง 7 ปีจากการให้บริการในฝูงบิน โดยแบ่งเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ขนาด 189 ที่นั่ง จำนวน 14 ลำ และจะมีการส่งมอบเพิ่มเติมอีก 2 ลำในเดือน พ.ย.-ธ.ค.ตามสัญญาเดิม และเครื่องบินใบพัด Q400 อีกจำนวน 8 ลำ เพื่อใช้สำหรับการให้บริการในเส้นทางบินท่องเที่ยวเมืองรอง
"หนี้สินการเงินกับทางสถาบันการเงินของบริษัทในปัจจุบันมีน้อยมาก เนื่องจากบริษัทฯ ใช้เงินกู้จากผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 พันล้านบาทในการบริหารสภาพคล่อง และยังใช้จ่ายไม่หมด ซึ่งได้รับการขยายเวลากู้ออกไปอีก 1 ปี โดยก่อนหน้านี้ได้นำเงินเพิ่มทุนไปชำระหนี้ ทำให้ภาระต้นทุนการเงินลดลง และช่วยลดต้นทุนรวม 30% ทำให้ผลประกอบการในไตรมาส 4/62 ดีขึ้น ซึ่งการยื่นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะช่วยปลดล็อกค่าเช่าเครื่องบินที่เป็นรายจ่ายหลัก และปลดล็อกสัญญาที่ทำไว้ในอดีตก่อนที่จะเข้ามาถือหุ้นและบริหาร ในการเป็นภาระสำคัญ และจะนำมาต่อรองกับเจ้าหนี้ด้วย โดยคาดว่าไม่เกิน 3 เดือนจะยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ พร้อมเสนอแต่งตั้งผู้บริหารแผนต่อศาลได้ ในระหว่างนี้จะเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอให้เห็นชอบแผนฟื้นฟูด้วย"
อย่างไรก็ดี บริษัทเชื่อมั่นว่าแผนฟื้นฟูกิจการมีความเป็นไปได้สำเร็จสูง เนื่องจากที่ผ่านมา NOK ทำการบินเต็มตลอด โดยมีเที่ยวบิน 604 เที่ยว/สัปดาห์ ครอบคลุม 23 จังหวัด ไม่มีการยกเลิกเที่ยวบินแม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด
ขณะที่ในช่วงไตรมาส 1-2 ของปีนี้บริษัทประสบผลขาดทุนจากการที่ไม่มีคนเดินทาง จนปัจจุบันธุรกิจเริ่มฟื้นตัว โดยดีมานด์ในประเทศ 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จะเห็นว่าผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นมากขึ้นเพราะนกแอร์ไม่มีการยกเลิกเที่ยวบิน และหน่วยงานราชการกลับมาอุดหนุนมากขึ้น นอกจากนี้สายการบินคู่แข่งก็ลดจำนวนเครื่องบิน ลดความถี่การบิน ทำให้การแข่งขันลดลง
ขณะที่ในส่วนของสายการบินนกสกู๊ตเลิกกิจการนั้น ทั้งผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการมองว่าจะเป็นการหยุดค่าใช้จ่ายได้ทันที โดย NOK ก็จะรับพนักงานและผู้บริหารสายการบินนกสกู๊ตเข้ามาทำงาน นอกจากนี้มองว่าการให้บริการเส้นทางต่างประเทศ NOK ก็สามารถดำเนินการได้เองโดยไม่จำเป็นต้องแยกการบริหาร ซึ่งในระยะยาวนกแอร์จะขยายเส้นทางระหว่างประเทศจากปัจจุบันให้บริการไปอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม
ทั้งนี้ ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ ได้ประกาศขึ้นเครื่องหมาย "C" บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) (NOK) โดยจะประกาศให้ขึ้นเครื่องหมาย "C" สายการบิน NOK ในวันที่ 3 ส.ค. 2563 จากการยื่นเพื่อขอให้ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยศาลรับคำร้องแล้วเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ทั้งนี้ นักลงทุนที่จะซื้อขายหุ้น NOK ต้องดำเนินการวางเงินสดไว้ล่วงหน้าเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์นั้น ตั้งแต่วันที่ขึ้นเครื่องหมายเป็นต้นไป จนกว่าจะแก้เหตุดังกล่าวได้
"ตาม" - Google News
July 31, 2020 at 09:57AM
https://ift.tt/30Zh4M6
“นกแอร์” ตามรอยการบินไทย ยื่นศาลล้มละลายกลางขอฟื้นฟูกิจการ - ผู้จัดการออนไลน์
"ตาม" - Google News
https://ift.tt/2U0RPX7
0 Comments:
Post a Comment