รัฐบาลออกโรงการันตีนักลงทุน ยันปรับ ครม.ไม่กระทบโครงการพัฒนาอีอีซี ให้สะดุด แจงละเอียดพร้อมเดินหน้าโครงการตามแผน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน-ท่าเรือมาบตาพุด-ท่าเรือแหลมฉบังและเมืองการบิน ยอมรับช่วงที่ผ่านมา ยอดขอลงทุนในอีอีซีลด เพราะโควิด-19 แต่เชื่อมั่นช่วงต่อไปเงินไหลมาแน่
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีข้อกังวลว่าการปรับคณะรัฐมนตรีอาจมีผลต่อความต่อเนื่องของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า ในขณะนี้การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในอีอีซีมีความคืบหน้าไปมาก โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นผู้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน ขณะที่โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญได้ลงนามกับคู่สัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ขอยืนยันว่า ทุกอย่างเดินหน้าต่ออย่างเดียวไม่ต้องมีข้อกังวลใดๆ ซึ่งโดยโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการมีรายละเอียด ดังนี้
1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินลงนามสัญญาร่วมลงทุนวันที่ 24 ต.ค.2562 ปัจจุบันการประปานครหลวง การประปาส่วน-ภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภค อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการรื้อย้าย โดยรถไฟความเร็วสูงสายนี้เข้าเชื่อมโยง 3 สนามบิน ยกระดับสนามบินอู่ตะเภามาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 อีกทั้งเป็นการสร้างพื้นที่ต่อขยายของเมืองให้กับกรุงเทพฯ และพื้นที่อีอีซี (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง)
2.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 ช่วงที่ 1 ลงนามสัญญาวันที่ 1 ต.ค.2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล และคณะกรรมการบริหารสัญญา โดย สกพอ. และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนคณะกรรมการบริหารสัญญาและหน่วยงานเจ้าของโครงการ ควบคุมและกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญาตามสัญญาร่วมลงทุน เพื่อดำเนินการก่อสร้าง
3.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ลงนามสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 โดยเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง ทําให้ 3 สนามบินรองรับผู้โดยสารรวมกันถึง 200 ล้านคนต่อปี เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation รวมทั้งเป็น “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย
4.โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ปัจจุบันคณะกรรมการคัดเลือกกำลังเร่งเจรจาผลตอบแทน และร่างสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (บริษัท พีทีที แทงค์เทอร์มินัล จํากัด ในกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวล ลอปเมนท์ (GULF) บริษัท China Harbour Engineering Commpany Limited) ที่เป็นเอกชนผู้รับการคัดเลือก คาดว่าจะได้ผลการคัดเลือก และลงนามสัญญาได้ในเดือน ส.ค.นี้
ขณะเดียวกันยังมีโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทําร่างเอกสารคัดเลือกเอกชนเพื่อรับฟังความเห็นอีกครั้ง ก่อนสรุปผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานโครงการต่อไป
นางสาวรัชดายังกล่าวด้วยว่า แม้การยื่นขอการลงทุนในอีอีซีลดลงในช่วง เม.ย.-มิ.ย. เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นจากนี้เป็นต้นไป เพราะยังมีนักลงทุนที่ต้องการย้ายการลงทุนสืบเนื่องจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ และ 3 อันดับแรกของประเทศที่เข้ามาลงทุนประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
“ขอให้ประชาชนและภาคเอกชนสบายใจและมั่นใจได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้ความสำคัญขับเคลื่อนการลงทุนในไทยและในพื้นที่อีอีซี ผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดย สกพอ. เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามดูแล และการปรับ ครม.ไม่กระทบต่อความต่อเนื่องของโครงการแต่อย่างใด และนอกจากความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างพื้นฐาน สกพอ.ได้เดินหน้าควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรร่วมกับสถาบันการศึกษาและเอกชน เพื่อรองรับการจ้างงานในอีอีซี เป้าหมาย จำนวนหลักแสนอัตรา ระยะเวลา 2562-2566”.
อ่านเพิ่มเติม...
"ตาม" - Google News
August 01, 2020 at 05:45AM
https://ift.tt/2D6ucak
ครม.เปลี่ยนแต่ “อีอีซี” ไม่เปลี่ยน รัฐออกโรงยืนยันเดินหน้าโครงการตามแผน - ไทยรัฐ
"ตาม" - Google News
https://ift.tt/2U0RPX7
0 Comments:
Post a Comment